ร่วมจัดบูธ มหกรรมอาหาร สวนชมน่าน จ.พิษณุโลก เรื่อง บรรจุภัณฑ์อาหารจากใบไม้สด ทดแทนกล่องโฟม ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ลดสารก่อมะเร็ง

 เมื่อวันที่ 9 - 15 เม.ย. 2559 ได้มีงานประเพณีสงกรานต์-ถนนกล้วยตาก มหกรรมอาหารและพิษณุโลกแกรนด์เซลล์ ประจำปี 2559 ณ สวนสาธารณะสวนชมน่านและบริเวณถนนนเรศวร หน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ร่วมจัดบูธแสดงผลงานในงานนี้ด้วย
 

รศ. ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้กล่าวว่า บรรจุภัณฑ์จากใบไม้ที่นำมาแสดงในงานประเพณีสงกรานต์  งานมหกรรมอาหาร และงานพิษณุโลกแกรนด์เซลส์ ประจำปี 2559 ของจังหวัดพิษณุโลก ได้ใช้ภาชนะที่ทำจากใบไม้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการลดปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนและลดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต 

 

 รศ.ดร.สมร หิรัญประดิษฐกุล เจ้าของงานวิจัยดังกล่าวนี้ ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงแนวคิดการทำบรรจุภัณฑ์จากใบไม้ ว่า โครงงานนี้เริ่มต้นพัฒนามาตั้งแต่เป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยแนวคิดในการทดลองนำใบไม้มาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บรรจุอาหารได้ถูกดำเนินการร่วมกับกลุ่มอาจารย์และนิสิตมาเป็นระยะเวลาประมาณเกือบ 4 ปี ซึ่งในช่วงแรกของการวิจัยได้พบปัญหาหลายด้าน ทั้งในด้านวัตถุดิบที่จะนำมาใช้และเทคนิคที่ใช้ในการทำภาชนะ โดยในช่วงแรกภาชนะใบไม้ที่ทำการทดลองยังไม่คงรูปร่างอย่างสม่ำเสมอทำให้ไม่สามารถนำไปใช้งานในการบรรจุอาหารได้อย่างหลากหลายประเภท ซึ่งยากต่อการประสบความสำเร็จในการวิจัย  และเมื่อประมาณปีเศษๆ มานี้เอง ผู้วิจัยได้ไปพบใบทองกวาวโดยบังเอิญที่วัดแห่งหนึ่งในวัดสาขาหลวงปู่ชาที่จังหวัดอยุธยาขณะไปช่วยทางวัดเทปูนล้อมรอบองค์เจดีย์  จึงได้ขอหลวงพ่อที่วัดมาลองทำการทดลองเพราะท่านว่าที่ปลูกไว้เพื่อจะนำใบและดอกของต้นมาปรุงเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค จึงทำให้เกิดความสนใจที่จะเลือกใช้ใบดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง เพราะหากทำสำเร็จเชื่อมั่นได้ว่า จะเป็นการตอบโจทย์ของงานวิจัยได้เป็นอย่างดี เพราะแม้แต่ใบไม้เองยังสามารถรับประทานเป็นยาสมุนไพรได้ และหากนำมาทำเป็นภาชนะบรรจุอาหารที่พื้นฐานของการผลิตไม่มีสารเคมีใดๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง จะสามารถทำให้คนไทยเราได้ใช้ภาชนะชดเชยโฟมได้เป็นอย่างดี พอดีกับว่าตลอดเส้นทางทั้งข้างทางและตรงกลางถนนจากจังหวัดนครสวรรค์จนถึงพิษณุโลก จะมีต้นทองกวาวปลูกไว้เต็มไปหมด จึงยิ่งทำให้เล็งเห็นแล้วว่าความเป็นไปได้ของการพัฒนาภาชนะจากใบไม้นี้สามารถที่จะดำเนินงานต่อไปได้อีก  โดยเฉพาะการพัฒนาส่งเสริมให้กับชุมชนท้องถิ่น  โดยต้น ดอก และ ใบทองกวาวจัดเป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่มีสมบัติในทางยา ใช้รักษาโรคต่างๆ อาทิ ใบ รักษาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ นำมาต้มน้ำขับพยาธิ รักษาริดสีดวง ถอนพิษ ต้มดื่มเป็นยาแก้ปวด และจากการที่ รศ.ดร.ศรินทร์ทิพย์ แทนธานี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มน. ท่านเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของงานวิจัยนี้ จึงให้การสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยอย่างเต็มที่และต่อเนื่อง เป็นผลให้ผู้วิจัยได้มีโอกาสพัฒนาและคิดค้นทดลองงานวิจัยดังกล่าวต่อมา ปัจจุบันงานวิจัยนี้ค้นพบวิธีการสร้างบรรจุภัณฑ์จากใบไม้ที่สามารถนำไปใช้งานและทดแทนภาชนะที่ทำจากวัสดุโฟมได้จริงในระดับหนึ่ง และ ทาง รศ.ดร.สมร หิรัญประดิษฐกุล ได้นำภาชนะจากใบไม้ไปทดลองใช้จริงแล้วกับโรงทานของวัด 2 แห่งในวัดสาขาของหลวงปู่ชา เพื่อบรรจุอาหารหลากหลายประเภท เช่น ผัดไท ส้มตำ กล้วยบวชชี ขนมปังปิ้ง ปาท่องโก๋ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้ทดลองด้วยการนำน้ำร้อนที่เดือดจัดมาใส่ในภาชนะที่ทำจากใบไม้และตั้งทิ้งไว้เป็นเวลา 2-3 วัน พบว่า ไม่ปรากฏการรั่วซึมของน้ำจากภาชนะที่ทำจากใบไม้ และภาชนะใบไม้ยังคงรูปทรงเดิมอีกด้วย  ดังนั้น ผลจากการวิจัยดังกล่าวจึงเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า ภาชนะที่ทำจากใบไม้ที่ผลิตจากการวิจัยครั้งนี้สามารถใช้ทดแทนภาชนะจากโฟมได้เป็นอย่างดี นอกจากการใช้ภาชนะดังกล่าวสำหรับบรรจุอาหารแล้ว ยังสามารถดัดแปลงไปจัดเป็นกระทงใช้ในงานลอยประทีป-ลอยกระทงเพื่อลดปัญหาการใช้โฟมได้เป็นอย่างดีในอีกแนวทาง เมื่อผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงเรื่องการจดสิทธิบัตรของงานวิจัย รศ.ดร.สมร ได้กล่าวว่า ในขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการขอรับอนุสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา อย่างไรก็ตาม การวิจัยครั้งนี้ยังต้องการการพัฒนาเพื่อให้เกิดเป็นภาชนะที่ทำจากใบไม้ที่มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นไปอีก  หากแต่ในปัจจุบัน งานวิจัยยังประสบกับปัญหาและอุปสรรคในเรื่องของงบประมาณที่จะนำมาพัฒนาขั้นตอนและวิธีการเพื่อให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น