นักวิจัย ม.นเรศวรนำเทคโนโลยีเออาร์ออกแบบเครื่องประดับ

      ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ต.ท่าโพธิ์ อ.เมือง จ.พิษณุโลก ได้แถลงข่าวเปิดตัว Mobile Application Smart showroom Virtual Jewelry Try On บนมือถือสมาร์ทโฟน เพื่อตอบโจทย์การขายของออนไลน์ยุคใหม่ โดยนำเทคโนโลยีเออาร์ หรือภาษาไทยใช้คำว่า “ความจริงเสริม”ที่เป็นการผนวกโลกแห่งความจริงและโลกดิจิตอลเข้าด้วยกันบนเทคโนโลยีเสมือนจริง เพื่อใช้สร้างการดึงดูด และเพิ่มมุมมองที่น่าสนใจให้กับลูกค้า
      ผศ.ดร.สมลักษณ์ วรรณฤมล กีเยลาโรว่า อาจารย์ประจำหน่วยงาน iD3 หน่วยวิจัยด้านการออกแบบการตัดสินใจ และการพัฒนาทางอุตสาหกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้บอกว่า ปัจจุบันพฤติกรรมการใช้จ่ายของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ตามสังคมและวัตถุนิยม ค่านิยมต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายในสังคมโดยพบว่าการซื้อขายแบบออนไลน์มีแนวโน้มการขยายตัวรวดเร็ว และเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทต่อการใช้ชีวิตและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โควิด ทำให้รูปแบบการซื้อ-ขาย ผ่านออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค อีกทั้งผู้บริโภคมีสิทธิในการเลือกซื้อ การหาข้อมูลสินค้า บริการอื่นๆ จากสื่อออนไลน์แล้วนำมาเปรียบเทียบสินค้าก่อนที่จะตัดสินใจซื้อ ส่งผลให้ผู้บริโภคพร้อมเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
      จึงได้จัดทำโครงการวิจัยขึ้น โดยได้รับทุนสนับสนุนการทุนวิจัยมุ่งเป้าวิสาหกิจชุมชน และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ปี พ.ศ.2562 สนับสนุนโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(สกสว.)และในปัจจุบัน ได้รับทุน Deep Tech จากหน่วยบริการและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)สนับสนุนเพื่อต่อยอดในเชิงพาณิชย์ จนออกมาเป็นแอพลิเคชั่น Smart Showroom + Virtual Jewelry Try On เป็นระบบออกแบบเครื่องประดับที่ทำงานผ่านเว็บไซต์ในการออกแบบร่วมกันระหว่างลูกค้าและนักออกแบบ และทดลองสวมใส่เครื่องประดับด้วยเทคโนโลยีเออาร์ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเกิดความได้เปรียบคู่แข่ง เนื่องจาก เทคโนโลยี AR ช่วยสนับสนุนให้เกิดปฏิสัมพันธ์ของลูกค้าที่มีต่อสินค้าทำให้ลูกค้ามีความรู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์และสามารถถสร้างการสือสารสองทางระหว่างลูกค้าและแบรนด์และสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีนี้ในการสร้างการตลาดแบบส่วนบุคคล กับลูกค้าได้อีกด้วย โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกด้านแฟชั่น ซึ่งลูกค้าของธุรกิจประเภทนี้ เน้นความเป็นปัจเจกและความแตกต่างสูงกว่าธุรกิจค้าปลีกประเภทอื่นๆ
      ผศ.ดร.สมลักษณ์ วรรณฤมล กีเยลาโรว่า ได้บอกต่อว่า เทคโนโลยี AR สามารถช่วยสร้างความแตกต่าง เพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน โดยจะถูกนำมาใช้ในการพัฒนาโมดูล Virtual Try-On Experience เพื่อช่วยในการตลาดและการขายสินค้า โดยลูกค้าสามารถทดลองสวมใส่ผลิตภัณฑ์เครื่องประดับแหวนและกำไลแบบเสมือนจริง โดยที่ยังไม่ได้ผลิตสินค้าขึ้นมา และในการทดลองสวมใส่จะใช้เพียงแค่โมเดลสามมิติ ผ่านการเรนเดอร์ผิวให้มีความสมจริง ลูกค้าสามารถใช้เครื่องมือนี้ในรูปแบบของ Mobile Application บนโทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟน โดยใช้ทำงานร่วมกับกล้องด้านหลังของโทรศัพท์มือถือ

ข้อมูล/ถ่ายภาพ Cr : พิษณุโลกฮอตนิวส์