ผศ. ดร.สุวิทย์ กิระวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในเดือนพฤษภาคม 2559 สาขาวิศวกรรมศาสตร์

          สกว.ฉลอง 20 ปี คปก. รองนายกฯเปรียบเป็นเพชรเม็ดงามร่วมขับเคลื่อนพัฒนาของประเทศ พร้อมเปิดตัวดุษฎีบัณฑิต คปก.ดีเด่น 8 คน เตรียมเข้ารับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พ.ค.ปีหน้า

          17 ธันวาคม 2558 --- พลอากาศเอก ดร. ประจิน จั่นตอง  รองนายกรัฐมนตรี ท่านประธานในพิธีเปิดงาน “20 ปี คปก.: สร้างคน สร้างปัญญา สร้างชาติ ด้วยมาตรฐานสากล” และ “งานเฉลิมฉลอง 20 ปี โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก”  ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ

รองนายกรัฐมนตรี กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการสนับสนุนการสร้างนักวิจัย” ว่า ดุษฎีบัณฑิตเป็นทรัพยากรบุคคลที่สำคัญในการสร้างองค์ความรู้และปัญญา ที่จะนำไปสู่การผลิตผลงาน ผลผลิตที่นำไปพัฒนาประเทศและการสร้างชาติ จึงขอชื่นชมที่นักศึกษาปริญญาเอกทุกคนสามารถฝ่าฟันอุปสรรคจนเป็นนักวิจัยอันเป็นผลพวงของการสร้างบุคลากรของ คปก. ซึ่งนับเป็นเพชรน้ำเอกที่ส่องประกายให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คนยุคต่อ ๆ ไป และสานต่องานของ สกว.และประเทศไทยให้เป็นเพชรเม็ดงามและเป็นที่สนใจของชาติต่าง ๆ ในการเข้ามาลงทุนในทุกภูมิภาคทั่วโลก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำผลสัมฤทธิ์จากงานวิจัยไปต่อยอด สร้างคน นักวิจัย และสร้างชาติต่อไป

            ปัจจุบันประเทศไทยมีนักวิจัยระดับปริญญาตรี โท เอกอยู่ในระบบน้อยมาก จึงเป็นสิ่งท้าทายของรัฐบาลในการผลักดันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสร้างนักวิจัยให้เพิ่มมากขึ้น ประเด็นวิจัยสำคัญในขณะนี้ คือ การสร้างความมั่นคงอาหารให้แก่ประชากรโลกให้สามารถดำรงชีพ ประเทศรวยไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสมากกว่าประเทศยากจนในการเข้าถึงแหล่งอาหาร ทำอย่างไรจะเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน แม้จะเปลี่ยนจากภาคเกษตรสู่อุตสาหกรรมและนวัตกรรมใหม่ ๆ แต่ก็ยังมีคนจำนวนมากขาดอาหาร หิวโหย รวมถึงขาดสารอาหาร จึงต้องกลับมามองนโยบายโลกต่ออาหารจะไปในทิศทางใดซึ่งรวมทั้งประเทศไทยด้วย รัฐบาลกำลังมุ่งเป้าเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมที่สร้างรายได้ และ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย แต่ต้องไม่หลงประเด็น การรักษาขีดความสามารถด้านเกษตรเพื่อดำรงศักยภาพในการมีอาหารเพื่อป้อนคนไทยและประชากรโลก จึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้ และต้องพึ่งพาการวิจัยทั้งเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ และการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

สิ่งสำคัญคือ กระแสของการสร้างความเจริญเติบโตในการทำให้เกิดผลผลิตที่เป็นชิ้นงานคุณค่าสูง ทั้งเครื่องจักรกล คอมพิวเตอร์ เป็นต้น เพื่อสร้างเม็ดเงินที่สูงขึ้น แต่ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเตรียมสร้างนักวิจัยและงานวิจัยให้พร้อม อีกสิ่งที่สำคัญคือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรง ก่อให้เกิดความแห้งแล้ง และสภาพดินที่เปลี่ยนไป รวมถึงการใช้ปุ๋ยเคมี

ในโจทย์ด้านอาหารนั้น เราจะต้องสร้างงานวิจัยสู่กระบวนการแปรรูปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มได้และน่าจับต้องไปปรุงอาหารมากขึ้น แม้แต่การคิดสร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ให้น่าดึงดูด นอกจากนี้ยังต้องวิจัยด้านพลังงานและพลังงานทางเลือก ลดปัญหาคาร์บอน รวมถึงการวิจัยและพัฒนาคมนาคมขนส่งเพื่อลดความแออัดของการจราจร การท่องเที่ยวที่จะต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริการและใช้สมุนไพรในสปามากขึ้น ตลอดจนสาธารณสุขที่เรายังนำเข้ายาจากต่างประเทศอีกมาก หากหันมาใช้สมุนไพรมากขึ้น สร้างสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตที่ดี

นโยบายของรัฐบาลในการสนับสนุนงานวิจัย เชื่อว่าสิ่งที่จำเป็นที่จะต้องสร้าง ได้แก่  1. วิทยากรและครูของนักวิจัย เพื่อเป็นนักวิจัยต้นแบบ และสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อไป 2. สร้างองค์ความรู้ จัดกลุ่มองค์ความรู้ งานวิจัยที่ยังขึ้นหิ้งต้องนำมาปัดฝุ่นและขยายผลต่อ หรือเก็บไว้เป็นภูมิปัญญาให้คนรุ่นต่อไปได้ศึกษา 3. การสร้างเทคโนโลยีดิจิตัล 4. การสร้างเครือข่ายวิจัยทั้งในชุมชนสังคมในทุกมิติของประเทศ ซึ่งจะเกิดพลังมหาศาล และก้าวสู่ระดับนานาชาติ ทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

ขณะที่ ศ. นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการ สกว. กล่าวว่า โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) เป็นโครงการขนาดใหญ่ของรัฐที่ให้ทุนแก่อาจารย์และนักศึกษาทุกสาขา เพื่อผลิตบุคลากรระดับปริญญาเอกและผลงานวิจัยที่มีคุณภาพสูงในมหาวิทยาลัยไทยให้ได้มาตรฐานสากล ด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าการส่งไปเรียนในต่างประเทศ 3-4 เท่า เนื่องจากประเทศไทยขาดแคลนนักวิจัยระดับปริญญาเอกอย่างรุนแรง ทำให้ระบบวิจัยซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาของประเทศอ่อนแอมาก เมื่อ สกว. ได้รับมอบหมายภารกิจการสร้างนักวิจัยระดับปริญญาเอกนี้ จึงจัดทำ “โครงการสนับสนุนการผลิตงานวิจัยและนักวิจัยระดับปริญญาเอกให้ทันความต้องการของประเทศใน 25 ปีข้างหน้า (Vision 2020)” เสนอต่อคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539  เนื่องจากโครงการนี้ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการในปีซึ่งเป็นปีฉลองกาญจนาภิเษก ของการครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงได้รับการจัดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ และมีชื่อว่า “โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.)”

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คปก. มีบทบาทอย่างมากในการผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงในจำนวนที่มากพอที่จะสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศ ในด้านการวิจัยได้อย่างเป็นรูปธรรม  จนถึงปัจจุบัน คปก. ได้จัดสรรทุนให้แก่อาจารย์ที่ปรึกษาที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจาก 31 มหาวิทยาลัย ในทุกสาขาวิชาไปแล้ว 17 รุ่น รวมประมาณ 1,700 คน และอาจารย์ที่ปรึกษาได้คัดเลือกนักศึกษาให้รับทุนผู้ช่วยวิจัยทั้งสิ้น 4,260 ทุน สามารถผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศกว่า 2,600 คน ซึ่งยังคงต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะขาดงบประมาณสนับสนุน อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ชัดเจน คือ นักศึกษา คปก. มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่มผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการนานาชาติตามมาตรฐานสากล และ/หรือสิทธิบัตรที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่มีค่ายิ่งของประเทศ มากกว่า 6,400 เรื่อง มีสิทธิบัตรที่ขอยื่นจดและได้รับแล้วทั้งสิ้น 93 เรื่อง มีความร่วมมือกับอาจารย์ที่ปรึกษาต่างประเทศกว่า 3,600 คน จาก 52 ประเทศ

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า คปก. สามารถดำเนินการจนบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในการผลิตนักวิจัยระดับปริญญาเอกคุณภาพสูงให้กับประเทศ คือ “สร้างคน” ผลิตผลงานวิจัยที่ได้มาตรฐานสากลในจำนวนที่สูงมาก คือ “สร้างปัญญา” และสร้างความเข้มแข็งให้กับหลักสูตร/ระบบบัณฑิตศึกษาและการวิจัยในมหาวิทยาลัยไทยโดยตรง  รวมทั้งทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในประเทศกับนักวิจัยในสถาบันต่างประเทศทั่วโลกได้อย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ประหยัดเงินตราของประเทศ คือ “สร้างชาติ”

ทั้งนี้ภายในงานได้เปิดตัวดุษฎีบัณฑิต คปก. ดีเด่น ครั้งที่ 2 จำนวน 8 ท่าน ซึ่งจะได้รับพระราชทานโล่จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีในเดือนพฤษภาคม 2559 ประกอบด้วย 1. สาขาวิศวกรรมศาสตร์ ผศ. ดร.สุวิทย์ กิระวิทยา มหาวิทยาลัยนเรศวร 2. สาขาสิ่งแวดล้อมหรือเทคโนโลยี รศ. ดร.สอาด ริยะจันทร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 3. สาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ดร.ธัญญดา รุ่งโรจน์มงคล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 4. สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ผศ. ดร.กุลยา สมบูรณ์วิวัฒน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 5. สาขาวิทยาศาสตร์ด้านสาธารณสุข รศ. ดร.ปิติ จันทร์วรโชติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 6. สาขาวิทยาศาสตร์ด้านการเกษตร ผศ. ดร.พิชญอร ไหมสุทธิกุล มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 7. สาขาสังคมศาสตร์ ผศ. ดร.กมลวรรณ ตังธนกานนท์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 8. สาขามนุษยศาสตร์ ผศ. ดร.ธานีรัตน์ จัตุทะศรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่มา : http://www.trf.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=8530:20&catid=44:2013-11-25-06-49-47&Itemid=369