เฉลิมฉลอง 30 ปี มหาวิทยาลัยนเรศวรในปี 2563 การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ระหว่าง กรมการขนส่งทางราง กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และหน่วยงานอื่นๆ

      นายสุวิทย์  เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและพัฒนา เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านวิชาการส่งเสริมการพัฒนาระบบราง ระหว่างกรมการขนส่งทางรางกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 15 หน่วยงาน เมื่อวันพุธที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ณ อาคารสโมสรกระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนินนอก โดยมี นายสุชาติ  โชคชัยวัฒนากร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง และ ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยผู้บริหารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน เข้าร่วมพิธี
      รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายในการสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้ความสำคัญกับการขนส่งระบบรางเป็นอย่างยิ่ง โดยได้มีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ รถไฟทางคู่ให้มีโครงข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ โดยได้ดำเนินการก่อสร้างแล้ว 993 กิโลเมตร และอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง 1,483 กิโลเมตรและรถไฟสายใหม่ 2 เส้นทาง 678 กิโลเมตร รถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจำนวน 14 สายทาง ระยะทาง 559 กิโลเมตร ระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาค๖ จังหวัด รวมถึงรถไฟความเร็วสูง ส่งผลให้จำเป็นต้องมีการซ่อมแซมและบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานเหล่านั้นในอนาคต อีกหลายสิบปี กอปรกับรัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2562 ข้อ 5.6 พัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยให้ความสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของผู้ให้บริการภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้นายกรัฐมนตรีได้ย้ำถึงความสำคัญของการส่งเสริมการผลิต รถไฟ รางรถไฟ และอุปกรณ์ประกอบสำหรับระบบรางในประเทศ ในพิธีทดลองให้บริการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ - คูคต จำนวน 1 สถานี จากสถานีหมอชิต-สถานีห้าแยกลาดพร้าว ในวันที่ 9 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา 
      ด้วยหลักการ Thai First คือ ไทยทำ ไทยใช้ คนไทยต้องได้รับประโยชน์ก่อน ซึ่งเป็นนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในโครงการก่อสร้างของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการใช้วัสดุทดแทนที่ผลิตจากยางพารา ในโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยยกระดับราคายางพารา แก้ปัญหารายได้ของเกษตรกร เป็นต้น
      การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “พันธมิตรระบบราง สร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทย” ระหว่าง กรมการขนส่งทางราง กับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยและหน่วยงานอื่นๆ ถือเป็นเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งแรกที่มีความร่วมมือกันระหว่าง 2 กระทรวง  ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมอบหมายให้หน่วยงานร่วมกันดำเนินงานทั้งหมด ๑๕ หน่วยงาน ประกอบด้วย
• 1 สมาคม คืออันประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 
• 3  หน่วยงานระดับกรม ได้แก่  กรมการขนส่งทางราง กรมวิทยาศาสตร์บริการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
• 2 สถาบันวิจัย ได้แก่ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ
• 3 ผู้ใช้งาน  ได้แก่ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
• 6 สถาบันการศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 
      โดยทั้งสิบห้าหน่วยงานมีความประสงค์จะทำความตกลงร่วมมือกันด้านวิชาการ การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา การจัดทำมาตรฐานการทดสอบและทดลอง และการพัฒนาบุคลากร เพื่อให้เกิดการส่งเสริมการประกอบรถไฟ การผลิตชิ้นส่วน วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในงานด้านระบบรางในประเทศรวมทั้งผลักดันให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม ระบบรางของประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม ใน 5 ด้าน ได้แก่
1.การถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา (Technology Transfer Research & Development)
2.มาตรฐานระบบราง (Railway Standard)
3.อุตสาหกรรมระบบราง (Rail Industry)
4.การทดสอบและการทดลอง (Testing and Laboratory)
5.การพัฒนาทรัพยากรบุคคล (Human Resource Development)
      ทั้งนี้ จากนโยบายรัฐบาล และนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ให้ความสำคัญกับระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบรางดังกล่าว กรมการขนส่งทางราง ได้ขับเคลื่อนโดยสร้างความร่วมมือในการสร้างสรรค์อุตสาหกรรมระบบรางไทยเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในวันนี้ โดยภายหลังจากนี้ แนวทางดำเนินงานจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ตลอดจนวางกรอบความร่วมมือในการพัฒนาและใช้วัสดุอุปกรณ์ ตั้งแต่งานซ่อม ไปสู่งานสร้าง เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถต่อยอด และขอรับความร่วมมือด้านการตรวจสอบคุณภาพของชิ้นส่วนวัสดุระบบราง และผู้วิจัย และสถาบันการศึกษา สามารถรับไปทดลอง ตรวจสอบคุณภาพ นำไปสู่การสร้างสรรค์ ค้นคว้า และวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางเพื่อให้เกิดความยั่งยืนต่อไป