รศ.ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น ปี 2557 กลุ่มงานสาธารณะ จาก สกว.

           สกว. มอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น 23 โครงการ ที่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ รวมถึงผลกระทบที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต สร้างความตื่นรู้และความเข้มแข็งให้คนและชุมชน โดยมี  รองศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล ได้รับรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกว. ปี 57 จากโครงการความปลอดภัยในการใช้วัสดุนาโน
           21 พฤษภาคม 2558 --- ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นประธานในพิธีมอบโล่เกียรติยศผลงานวิจัยเด่น สกว. ประจำปี 2557 ณ โรงแรมพลาซ่า แอทธินี รอยัล เมอริเดียน ซึ่งจัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรตินักวิจัยที่มีความมุ่งมั่นในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยที่มีคุณค่า และเผยแพร่ผลงานวิจัยดีเด่นต่อสาธารณะ
           สกว. ได้ยกระดับความเข้มแข็งของงานวิจัย และความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัย สร้างนักวิจัย และการปรับใช้องค์ความรู้เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ที่สำคัญ เพื่อให้เกิดการพัฒนาประเทศซึ่งขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมที่มาจากความรู้ที่เราสร้างขึ้น หรือความรู้จากภายนอกแต่นำมาต่อยอดดัดแปลงให้เหมาะสมกับประเทศไทย การทำงานร่วมกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างไรก็ตามการมุ่งสร้างความรู้อาจไม่จำกัดเพียงด้านวิชาการ แต่ยังรวมถึงการสร้างความเข้มแข็งของคน ชุมชน และพื้นที่ที่เป็นรากฐานการผลิตของสังคม อย่างเกษตรกร ประชาชนธรรมดา การสร้างทางเลือกเชิงนโยบายในการแก้ปัญหาของประเทศ
           ศ. นพ.ไกรสิทธิ์ กล่าวระหว่างปาฐกถาหัวข้อ “บัณฑิตศึกษากับการวิจัย” ว่าการทำวิจัยระดับนี้จะต้องศึกษารูปแบบการบริหารงานวิจัยระดับอุดมศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ให้มีผลงานวิจัยเป็นที่ยอมรับ เผยแพร่อย่างกว้างขวางและใช้ประโยชน์อย่างจริงจัง ทั้งนี้บัณฑิตศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงมีรับสั่งหลังได้รับการทูลเกล้าฯ ถวายทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น สกว. ว่าจะทรงสนับสนุนนักศึกษาระดับปริญญาโทและเอก แต่ผู้เรียนต้องถามตัวเองก่อนว่าเรียนไปเพื่ออะไร ความสำคัญของบัณฑิตศึกษาที่จะประสบความสำเร็จจะต้องมีความสนใจใฝ่รู้ มุ่งมั่นทำวิจัยให้แล้วเสร็จ และมีคุณธรรมจริยธรรม ขณะเดียวกันคณาจารย์ก็มีความสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้นักศึกษาประสบความสำเร็จ รวมถึงปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เช่น สิ่งแวดล้อมทางวิชาการ ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนนักวิจัย รวมถึงกระบวนทำวิจัย เมื่อมีผลงานวิจัยจะรู้สึกภูมิใจโดยเฉพาะเมื่องานวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งบัณฑิตศึกษาจะเป็นฐานสำคัญที่ทำให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นการผลิตบัณฑิตศึกษาจึงต้องรู้จริง รู้กว้าง รู้ลึก และสร้างผู้นำรุ่นใหม่
           หากมองปัญหาระดับโลก จะแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1. ความมั่นคง ด้านอาหาร พลังงาน การเงิน ชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อม มนุษย์ 2. สิทธิมนุษยชน การมีส่วนร่วมในการพัฒนา และ 3. การพัฒนา ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันคือ การพัฒนาแห่งสหัสวรรษสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องได้ข้อสรุปภายในเดือนกันยายนี้ และเริ่มต้นปฏิบัติในปีหน้า โดยมีวาระสำคัญ คือ การขยับสู่ “Well-being for all” ทั้งเรื่องความยากจนหิวโหย การศึกษา ความเสมอภาคระหว่างเพศ อัตราการตาย โรคติดเชื้อ การดูแลสิ่งแวดล้อม การทำงานร่วมกันเพื่อการพัฒนา ซึ่ง สกว.มีจุดเด่นในการบริหารจัดการงานวิจัยที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้อย่างมาก ทั้งให้การสนับสนุนและร่วมทุนวิจัยตั้งแต่การพื้นฐาน การวิจัยและพัฒนา การวิจัยเชิงประเด็น รวมถึงการพัฒนากำลังคนในมิติต่างๆ ตลอดจนสร้างบันไดอาชีพให้เป็นอาชีพที่มีศักดิ์และศรี อยู่กินได้ เชิดชูนักวิจัยตั้งแต่รุ่นใหม่จนถึงรุ่นอาวุโส รวมถึงสร้างเครือข่ายวิจัยเพื่อสร้างความเข้มแข็งเตรียมความพร้อมสู่สากล
           อนึ่ง ในปี 2557 ที่ผ่านมามีผลงานวิจัยที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผลงานวิจัยเด่นจำนวนทั้งสิ้น 23 ผลงาน ซึ่งจำแนกตามแนวทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของ สกว. รวม5 ด้าน คือ ด้านนโยบาย ด้านสาธารณะ ด้านพาณิชย์ ด้านชุมชนและพื้นที่ และด้านวิชาการ ซึ่งแต่ละด้านมีความน่าสนใจและเห็นมูลค่าส่วนต่างที่เกิดผลกระทบทั้งด้านตัวเงิน ความรู้ใหม่ในระดับนานาชาติ และด้านสังคม คุณภาพชีวิตที่เป็นคุณูปการ อาทิ โครงการรับจำนำข้าวที่ช่วยให้สังคมได้รับรู้และตื่นตัวในเรื่องการทุจริต คอร์รัปชัน โครงการเพาะพันธุ์ปัญญาที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ที่ผู้สอนและผู้เรียนมีความสุข ให้เครื่องมือผู้เรียนในการแสวงหาความรู้ โครงการแผ่นเกราะป้องกันกระสุน ความรู้ของคนไทยและทหารไทยที่สามารถลดการนำเข้าได้จากต่างประเทศประหยัดงบประมาณได้ไม่น้อยต่อปี  มังกรหลากสีในอุษาคเนย์  การนำน้ำยางข้นมาเป็นวัสดุปูสระน้ำ งานวิจัยด้านการแพทย์เรื่องโรคเอดส์ จากห้องปฏิบัติการสู่คลินิกที่ช่วยให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้น และน่าจะขยายผลออกไปในวงกว้างระดับอาเซียน