Infographic สรุป 1 ในผลลัพธ์ ผลกระทบจากงานตรวจเศษซากไวรัสในน้ำเสีย

      แม้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะยังไม่ถึง 50,000 คน ต่อ วัน ตามที่หลายหน่วยงานการคาดการณ์ แต่ผู้เสียชีวิตก็สูงกว่า 100 คนต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งเพราะการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นยังมีแค่ 36.8% ของประชากรทั้งประเทศเท่านั้น ทั้งนี้วัคซีนเข็มกระตุ้นมีความจำเป็นด้วยสามารถลดการป่วยหนัก/เสียชีวิตได้ถึง 98%
      จังหวัดพิษณุโลกจึงได้นำร่องใช้แผนที่เศษซาก RNA ของไวรัส SARS-CoV2 ในน้ำเสียชุมชนเพื่อสื่อสารความเสี่ยง เตือนภัยล่วงหน้า รณรงค์เชิงกระตุ้นให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนเข็ม 3 โดยการดำเนินการประสบความสำเร็จเชิงประจักษ์ด้วยสามารถเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ได้ 40% และ ลดความเสียหายต่อสุขภาพและชีวิตได้กว่า 122 ล้านบาทในช่วงเวลาการรณรงค์ 18 วัน
      เศษซาก RNA ของไวรัส SARS-CoV-2 ในน้ำเสียชุมชนไม่มีโทษด้วยไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ แต่มีประโยชน์คือสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดทางชีวภาพคาดการณ์ความชุกของผู้ติดเชื้อในชุมชนล่วงหน้าได้ประมาณ 10 วันสำหรับสายพันธุ์โอมิครอน การคาดการณ์ผู้คิดเชื้อคงค้างทั้งแสดงและไม่แสดงอาการโดยการคำนวณจากความเข้มข้นของ RNA ของไวรัสในน้ำเสียทำให้สามารถสร้างแผนที่ความเสี่ยงในการอยู่ในชุมชนที่มีผู้ติดเชื้อมากน้อยต่างกันได้ ทำให้ประชาชนในชุมชนเห็นถึงความเสี่ยงจากการมีผู้ติดเชื้อในชุมชนที่ไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการแต่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อได้
      คณะกรรมโรคติดต่อ และ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดพิษณุโลกใช้แผนที่คาดการณ์ผู้ติดเชื้อจากเศษซาก RNA ของไวรัสในน้ำเสียชุมชนจากรอบการเก็บตัวอย่างวันที่ 5 มกราคม 2565 รณรงค์ให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นโดยแสดงให้เห็นการติดเชื้อในชุมชนที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ที่กำลังจะตรวจพบในอีก 10 วันข้างหน้าโดยอาศัยการคาดการณ์จากซากเชื้อ อันมีความสอดคล้องกับการเริ่มการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดพิษณุโลก  ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความเสี่ยงที่ใกล้ตัวมาก ออกมาฉีดวัคซีนในช่วงวันที่ 11 มค 65 ถึง 28 มค 65 (18 วัน) โดยเฉลี่ยสูงขึ้นกว่า 40% (เฉลี่ย 3176±2068 เข็ม ต่อ วัน) เมื่อเทียบกับการฉีดวัคซีนเฉลี่ย (2022±1979 เข็ม ต่อ วัน) ในช่วงวันที่ 5 มค 65 ถึง 10 มค 65 (6 วัน) อันเป็นช่วงหลังพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดพิษณุโลก 3 คนแรก 
      นอกจากนี้ในทั้ง 2 ช่วงที่นำมาเปรียบเทียบกันดังกล่าว หากเปรียบเทียบวันที่มีผู้มาฉีดวัคซีนต่อวันมากที่สุด และ น้อยที่สุดพบว่าในช่วงการรณรงค์ด้วยแผนที่ความเสี่ยงจากซากเชื้อทำให้มีผู้มาฉีดวันซีนเพิ่มขึ้น 64% และ 810% ในวันที่มีผู้มาฉีดวัคซีนต่อวันมากที่สุด และ น้อยที่สุด ตามลำดับหากเปรียบเทียบกับช่วงที่เพิ่งพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในจังหวัดพิษณุโลก 3 คนแรก โดยรวมในรอบ 18 วันการรณรงค์เพิ่มผู้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้มากกว่ากรณีที่ไม่มีการร่วมรณรงค์ด้วยแผนที่ความเสี่ยงจากเศษซากเชื้อถึง 20,788 คน ลดโอกาสป่วยรุนแรง 28 คน และ ลดโอกาสเสียชีวิต 10 คน ทำให้ลดมูลค่าความเสียหายต่อสุขภาพและชีวิตประมาณ 122 ล้านบาท เมื่อประเมินจากค่ารักษาผู้ป่วยหนักและประเมินจากมูลค่าชีวิตสำหรับกรณีเสียชีวิต
      จังหวัดพิษณุโลกแสดงให้เห็นว่าความตระหนักของความเสี่ยงที่ใกล้ตัวจากแผนที่ความชุกของโรคในชุมชนมีอิทธิพลทำให้ประชาชนบริหารความเสี่ยงด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น การประยุกต์ใช้นวัตกรรมการตรวจเศษซาก RNA ของไวรัสในน้ำเสียจะช่วยหน่วยงานราชการและภาครัฐในพื้นที่อื่นๆสื่อสารความเสี่ยงต่อประชาชน เพิ่มอัตราการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ลดความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจประเทศในองค์รวมได้
      โครงการวิจัยตรวจเศษซาก RNA ของ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียขุมชนนี้ดำเนินการโดยคณะวิจัยคณะวิศวกรรมศาสตร์ และ คณะวิทยาศาสตร์การแพทย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวรโดยมี ผศ.ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ เป็นหัวหน้าโครงการ 
      ผลงานวิจัยนี้ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ โดยงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม