การประชุมวิชาการ เรื่อง “การสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ

                 ด้วยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และมหาวิทยาลัยนเรศวร กำหนดจัดประชุมวิชาการ เรื่อง “การสร้างความตระหนักรู้และการขับเคลื่อนมาตรการความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยี” วันจันทร์ที่ 19 พฤศจิกายน 2555 ณ ห้องวีนัส ชั้น 3 โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวชัน กรุงเทพมหานคร    โดยมีศาสตราจารย์ ดร.สุจินต์ จินายน อธิการบดีมหาวิทยาลัยนเรศวรให้เกียรติในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการประชุม ศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ ตันตระรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนบสนุนการวิจัยและ ศาสตราจารย์ นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ  ให้เกียรติในการกล่าวเปิดการประชุม ซึ่งรองศาสตราจารย์ ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูลได้รับเกียรติเป็นวิทยากร  และ ดร.จิรภัทร์ อนันต์ภัทรชัย เป็นพิธีกรดำเนินการประชุม
                 ภายในงานมีการจัดการประชุมเสวนาและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดและแนวทางการรับมือด้านความปลอดดภัยของนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ซึ่งในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  และเครื่องมือในการจัดการความปลอดภัยวัสดุนาโน โดย รศ. ดร.ตุลวิทย์ สถาปนจารุ จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึง “ความเป็นพิษของวัสดุนาโน-ผลิตภัณฑ์นาโน และการทดสอบความเป็นพิษ” ว่าส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวและครีมกันแดด ยารักษาโรค เป็นต้น รวมทั้งกลุ่มสิ่งทอ อาหาร บ้านและสวน เช่น สีทาบ้าน ผงซักฟอก เป็นต้น โดยอนุภาคนาโนที่เป็นองค์ประกอบในผลิตภัณฑ์มากที่สุด คือ ซิลเวอร์นาโน รองลงมาคือ คาร์บอนแบล็ค ซิลิกา ไททาเนียมไดออกไซด์ สังกะสี และทองคำ เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านี้หมดอายุต้องมีการกำจัดก่อนจะเข้าสู่สิ่งแวดล้อม สิ่งมีชีวิตและมนุษย์ตามลำดับ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดการตั้งแต่ระบบการผลิตเพื่อลดปริมาณวัสดุนาโนที่จะสัมผัสกับมนุษย์และการบำบัดต่าง ๆ เพื่อลดการปนเปื้อน ซึ่งปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มตระหนักถึงการตกค้างของวัสดุนาโนในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น 

                    ดร.ณัฐพันธ์ ศุภกา ฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยีและวิชาการ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวถึง “การสร้างมาตรฐานความปลอดภัยผลิตภัณฑ์นาโนและฉลากนาโนคิว” ว่าผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยีที่มีจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ยังขาดข้อมูลการวิเคราะห์ความเป็นนาโน รวมถึงขาดข้อมูลการวิเคราะห์ทดสอบประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และขาดข้อมูลด้านความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต โดยข้อจำกัดและอุปสรรคในการควบคุมผลิตภัณฑ์นาโนเทคโนโลยี 

                     รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล สถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศทางวิชาการด้านวิจัยและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึง “แนวทางปฏิบัติที่ปลอดภัยในการทำงานด้านนาโนเทคโนโลยีสำหรับนักวิชาการ อุตสาหกรรม และผู้บริโภค” ว่าได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ในโครงการจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดความปลอดภัยทางนาโนวิทยาศาสตร์และนาโนเทคโนโลยี เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติสำหรับงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยี และนำไปปรับใช้ในการวิจัยของมหาวิทยาลัย รวมถึงหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ขององค์กรของรัฐ และเป็นต้นแบบแนวทางการปฏิบัติที่ปลอดภัยให้กับอุตสาหกรรม โดยจัดทำเป็น “คู่มือความปลอดภัยในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับวัสดุนาโน” และนำไปทดสอบใช้กับห้องปฏิบัติการนำร่องของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวม 7 แห่ง สำหรับภาพรวมของการทำงานวิจัยด้านนาโนเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยไทย รศ. ดร.พวงรัตน์ ขจิตวิชยานุกูล กล่าวว่าอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยด้านวัสดุนาโนมักใช้ร่วมกับอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัยสารเคมี โดยมีเฉพาะบางชนิดเท่านั้นที่มีการแยกใช้งาน เช่น ตู้ดูดควัน หรือการเก็บวัสดุนาโนแยกจากสารอื่น โดยงบประมาณในการจัดหาอุปกรณ์มาจากอาจารย์และหน่วยวิจัยเฉพาะด้านที่ทำวิจัยเกี่ยวกับวัสดุนาโนเป็นหลัก เพราะแต่ละมหาวิทยาลัยยังไม่มีมารตรการที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการทำงานและการจัดการวัสดุนาโน และการให้ความรู้ด้านความปลอดภัยวัสดุนาโนแก่ผู้เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยอาจารย์ผู้ทำการวิจัยโดยตรงเป็นหลัก ซึ่งมีรูปแบบแตกต่างกันไป ซึ่งทั้งเจ้าหน้าที่และนักวิจัยต่างมีความตระหนักในเรื่องความปลอดภัยด้านวัสดุนาโนเป็นอย่างมาก และเห็นด้วยว่าควรจัดทำคู่มือความปลอดภัยเพื่อให้ดำเนินการได้อย่างถูกต้อง

                    ระหว่างการเสวนาและเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนแนวคิดแนวทางการรับมือด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีของประเทศ ภญ. ดร.ยุพิน ลาวัณย์ประเสริฐ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านความปลอดภัยและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้านสาธารณสุข สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า กล่าวว่า การกำกับดูแลผลิตภัณฑ์ใช้หลักการบริหารความเสี่ยง ดังนั้นความเข้มงวดจึงพิจารณาตามระดับความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ หากมีความเสี่ยงสูงต้องได้รับอนุญาต/ขึ้นทะเบียนก่อนวางตลาด ความเสี่ยงปานกลางต้องมีการจดแจ้งตามรายละเอียดที่กฎหมายกำหนดก่อนวางตลาด และความเสี่ยงต่ำต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อกำหนดเรื่องการแสดงฉลากต้องไม่แสดงข้อความเป็นเท็จเกินความจริงหรือโอ้อวด ซึ่งกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในการควบคุมของ อย. และยังไม่มีแนวทางหรือหลักเกณฑ์เฉพาะเจาะจงสำหรับผลิตภัณฑ์นาโน ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์ยา การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับวัสดุนาโนหรือนาโนเทคโนโลยีอยู่ในส่วนข้อมูล CMC ของการยื่นคำขอขึ้นทะเบียนตำรับยา โดยจัดเป็น “ยาใหม่” คือยาที่มีรูปแบบใหม่ของการให้ยา เป็นการพัฒนาระบบนำส่งยาแบบใหม่ซึ่งทำให้ชีวปริมาณสารออกฤทธิ์ (Bioavailability) ของยาแตกต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ และต้องยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนตามคู่มือหรือหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน  อย่างไรก็ตามขณะนี้ได้มีการจัดทำ (ร่าง) ข้อมูลประกอบการขออนุญาตอาหารใหม่เพื่อใช้เป็นแนวปฏิบัติในการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค ซึ่งได้รับความเห็นชอบในประเด็นทางวิชาการจากคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาวิเคราะห์ปัญหาและวินิจฉัยในเชิงวิชาการเกี่ยวกับอาหารแล้ว และอยู่ระหว่างดำเนินการนำ (ร่าง) ข้อมูลดังกล่าวมากำหนดเป็นมาตรการทางกฎหมาย

                        รศ.ดร.ชวนี ทองโรจน์ ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า การเริ่มต้นวิจัยเพื่อพัฒนาให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ต้องมีความเข้าใจว่าโอกาสที่จะเกิดความไม่เหมาะสมหรือผลอันไม่พึงประสงค์จะมีได้หลายทาง ทั้งในปลายน้ำส่วนที่จะเกิดกับผู้บริโภค และต้นน้ำในส่วนที่จะเกิดกับนักวิชาการหรือนักวิจัยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ โรงงานต้นแบบ รวมทั้งผู้ช่วยที่อยู่ในห้องปฏิบัติการ อาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีการดูแล ให้สถาบันการศึกษาจัดการศึกษาให้มีคุณภาพและปฏิบัติตามพันธกิจอย่างเต็มความสามารถ โดยการสนับสนุนงบประมาณการทำวิจัยและสอดแทรกในการประกันคุณภาพ ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์สำคัญที่ทำให้มีผลกระทบในทางอ้อมที่จะทำให้สถาบันอุดมศึกษาสามารถดำเนินกิจกรรมต่อไปได้หรือต้องหยุดดำเนินกิจกรรม ดังนั้นการดูแลความปลอดภัยและจริยธรรมด้านนาโนเทคโนโลยี หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการให้ทุนวิจัยต้องมีผู้ทรงคุณวุฒิช่วยดูแลว่าโครงการเหล่านั้นมีความเหมาะสมหรือไม่ โดยพิจารณาความปลอดภัยในกระบวนการวิจัย ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและผู้บริโภค 

                        ขณะที่ ดร.วิสันติ เลาหอุดมโชค นักวิชาการแรงงานชำนาญการ สำนักความปลอดภัยแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่า การรับมือด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีในส่วนของกระทรวงแรงงานนั้น นอกจากแผนแม่บทด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน และวาระแห่งชาติซึ่งประกาศโดยคณะรัฐมนตรีในปี 2550 แล้วยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานประกันสังคม สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม องค์กรแรงงานระหว่างประเทศ สำนักงานประเทศไทย รวมถึงความร่วมมือกับต่างประเทศในนามเครือข่ายความปลอดภัยและอาชีวอนามัยอาเซียน ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2542 ปัจจุบันกลุ่มประเทศอาเซียนได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเครือข่าย โดยมีญี่ปุ่น จีน และเกาหลีเข้าร่วมสังเกตการณ์ 

                         ทั้งนี้สำนักความปลอดภัยแรงงานได้เผยแพร่ข้อมูลด้านความปลอดภัยฯ ผ่านหนังสือคู่มือ แนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยฯ เว็บไซต์ของสำนักงาน นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรมรณรงค์ด้านความปลอดภัย ในงานสัปดาห์ความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ โครงการรณรงค์อุบัติเหตุเป็นศูนย์ ส่วนการดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยนาโนเทคโนโลยีในปัจจุบัน ประกอบด้วย การร่วมกับศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติในการเข้าสำรวจสถานประกอบกิจการ เพื่อประเมินการสัมผัสอนุภาคนาโนในผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้อง โดยการใช้เครื่องมือ อุปกรณ์เก็บตัวอย่างอากาศ ทั้งแบบพื้นที่และแบบติดตัวบุคคล นอกจากนี้ยังมีกฎกระทรวงที่กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจสุขภาพ ซึ่งระบุถึง “งานเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยง” ที่ครอบคลุมงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตรายตามที่รัฐมนตรีกำหนด จุลชีวันเป็นพิษซึ่งอาจเป็นเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือสารชีวภาพอื่นตามที่รัฐมนตรีประกาศ รวมถึงกัมมันตภาพรังสี ความร้อน ความเย็น การสั่นสะเทือน ความกดดันบรรยากาศ แสง เสียง หรือสภาพแวดล้อมอื่นที่อาจเป็นอันตรายตามที่รัฐมนตรีประกาศ กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับสารเคมีอันตราย ออกภายใต้พระราชบัญญัติความปลอดภัยฯ พ.ศ. 2554 ซึ่งจะมีผลใช้บังคับทดแทนกฎหมายเดิมที่สิ้นผลบังคับใช้ ซึ่งประกอบด้วย ปมท.ภาวะแวดล้อม (สารเคมี) พ.ศ. 2520 และ ปมท.สารเคมีอันตราย พ.ศ. 2534