มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2)

      วันที่ 5 ตุลาคม 2562  มหาวิทยาลัยนเรศวร จัดการประชุมเพื่อนำเสนอความก้าวหน้าโครงการพัฒนาต้นแบบของเทคโนโลยีที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ฉุกเฉินทางไกลในชนบท โดยผ่านเครือข่ายดิจิทัลความเร็วสูง (ระยะที่ 2) ขึ้น ณ ห้องประชุมอาคารวิทยาลัยพลังงานทดแทน และสมาร์ตกริดเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนเรศวร และโรงพยาบาลบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก 
      ในการนี้ได้รับเกียรติจาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวต้อนรับ พร้อมนี้ ได้รับเกียรติจาก นายนิพนธ์  จงวิชิต รักษาการแทนผู้จัดการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ    กล่าววัตถุประสงค์ของกองทุนฯ 
      นักวิจัย ซึ่งนำโดย ศาสตราจารย์ ดร. ไพศาล มุณีสว่าง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย รองศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ  แย้มเม่น คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์  นายแพทย์ปิยะ ศิริลักษณ์  นายแพทย์สาธารณสุข จังหวัดพิษณุโลก และรองศาสตราจารย์ นายแพทย์ศิริเกษม ศิริลักษณ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทีมงานวิจัย ได้เล็งเห็นปัญหาสำคัญของระบบบริการทางการแพทย์ไทยที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้คือ การขาดแคลนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในพื้นที่ชนบท อันเนื่องมาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่จะทำงานอยู่ ณ โรงพยาบาลขนาดใหญ่ เช่น โรงพยาบาลศูนย์ ฯ โรงพยาบาลประจำจังหวัด ในเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ปัจจุบันการให้บริการผู้ป่วยในชนบท จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ทั่วไป แพทย์ใช้ทุน หรือแพทย์ฝึกหัด หรือเจ้าหน้าที่พยาบาลที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอ ซึ่งในปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ได้มีการนำวิธีการปรึกษาทางไกลเข้ามาช่วยในการให้บริการทางการแพทย์ โดยหากแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในเขตชนบทหรือโรงพยาบาลขนาดเล็ก พบปัญหาในการรักษาหรือมีข้อสงสัยที่ไม่สามารถตัดสินใจได้ จะใช้ระบบการปรึกษาผ่านโทรศัพท์ไปยังแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ หรือใช้วิธีการส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน 
      ซึ่งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่จะทำการขอคำปรึกษา ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปลายทางได้เห็น เช่น ประวัติการได้รับยาของผู้ป่วย ประวัติสุขภาพของผู้ป่วย ฯลฯ  ให้กับแพทย์ปลายทางได้รับทราบข้อมมูล หากแพทย์ปลายทางมีข้อสงสัยหรืออยากได้ข้อมูลเพิ่มเติม ต้องบอกกับแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ผู้ร้องขอคำปรึกษาให้ส่งข้อมูลมาให้ถึงจะทำการให้คำปรึกษาได้อย่างครบถ้วน
      กระบวนการปรึกษาดังกล่าว ช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการปรึกษาทางไกลได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถตอบโจทย์การบิรการทางการแพทย์ได้อย่างครบถ้วน ด้วยประเด็นของการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งยังเป็นข้อจำกัดในการให้บริการ ดังนั้นทีมวิจัยจึงได้นำเสนอเทคโนโลยีการปรึกษาทางการแพทย์ (Medical Consultation) รูปแบบใหม่ผ่านแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า NUMED ซึ่งจะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ของผู้ป่วยได้ทุกด้าน โดยผ่านอุปกรณ์หรือซอฟท์แวร์ที่เรียกว่า Agent ซึ่งทำหน้าที่ในการเชื่อมโยงข้อมูลทางการแพทย์ประกอบด้วย ประวัติข้อมูลการเข้ารักษา (OPD Screen) ประวัติการตรวจผลแลป (Labs) ประวัติของอาการผู้ป่วย (Diagnosis) ประวัติการได้รับยาาของผู้ป่วย (Drugs) โดยจะสามารถเชื่อมโยงจากแหล่งข้อมูลต้นทางที่ผู้ป่วยเคยเข้ารักษาบริการแบบ Real Time
      ทีมวิจัยมีความประสงค์จะขยายผลเทคโนโลยีระบบการปรึกษาทางไกล ผ่านแอปพลิเคชัน NUMED ดังกล่าว เพื่อช่วยให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขไทย มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่ห่างไกล ที่ขาดแคลนบุคลากรที่เชี่ยวชาญเป็นพิเศษ ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการแพทย์ เสมือนกับการเดินทางมารับการรักษาในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ และแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลเหล่านั้นก็จะสามารถลดขีดจำกัดในการักษา และเพิ่มองค์ความรู้ ประสบการณ์ ความมั่นใจในการักษาผู้ป่วย อันจะส่งผลให้การบริการทางการแพทย์หรือสาธารณสุขดไทยก้าวข้ามไปสู่การบริการที่มีประสิทธิภาพและมั่นคง




ข่าว Cr : กรรณิกา  จำปาทอง
IT Cr : วิสุทธิ์  แก้วป้องปก