นักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก.

 ตามที่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้อุดหนุนทุนการวิจัยให้กับมหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธนพล  เพ็ญรัตน์   อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าโครงการ เพื่อดำเนินงานโครงการ “การเฝ้าระวังเชิงรุก และการเตือนภัย (3-14 วัน) ล่วงหน้าจากการแพร่เชื้อ SARS-CoV2  ในสถานที่สุ่มเสี่ยงและชุมชน ด้วยการตรวจหาสารพันธุกรรมของไวรัสในน้ำเสียโสโครก โดยวิธี Loop Mediated Isothermal Amplification (LAMP) Assays โดยมีวัตถุประสงค์ ดำเนินการเฝ้าระวังเพื่อลดผลกระทบจากการระบาดระลอกต่อไป(ระลอก 4 และ 5) ในระดับชุมชน อำเภอ และจังหวัดให้ประสบความสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี  โดยทีมนักวิจัยได้ลงพื้นในหลาย ๆ จังหวัด อาทิ จังหวัดเชียงใหม่  จังหวัดตาก จังหวัดพิษณุโลก เป็นต้น

วันที่ 25 – 26 พฤศจิกายน 2564 ผ่านมา  ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนพล เพ็ญรัตน์ และทีมนักวิจัยจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ได้ลงพื้นที่ จังหวัดยะลา เก็บตัวอย่างซากเชื้อ SARS-CoV-2 ในน้ำเสียโสโครก เพื่อทำแผนที่ความเสี่ยงคาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชนในเทศบาลนครยะลา ล่วงหน้า 2 สัปดาห์ สำหรับการดำเนินการเชิงรุกตอบโต้การแพร่ระบาดของโควิด-19 เพื่อนำข้อมูลไปทำเป็นแผนที่ความเสี่ยง คาดการณ์ผู้ติดเชื้อระดับชุมชน และเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าก่อนการระบาดของ SARS-CoV-2


ข่าว Cr : กรรณิกา  จำปาทอง 
ข้อมูลอ้าวอิง Cr : 
www.matichon.co.th/local/quality-life/news_3058387

www.bangkokbiznews.com/tech/973984